
การจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559
[img src="http://doe.go.th/prd/Upload/bkk/2016-08-02%207934oss.jpg">
1. กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนได้ มี 2 กลุ่ม ได้แก่ (กลุ่มเดิมที่มีเอกสาร)
1.1 แรงงานกลุ่มที่มีบัตรสีชมพู
1.1.1 แรงงานที่ได้รับบัตรสีชมพู ตามนโยบาย คสช. ซึ่งด้านหลังบัตรสีชมพูระบุ ปีที่หมดอายุ 2557 หรือ 2558
1.1.2 แรงงานที่ได้รับบัตรสีชมพู ตามนโยบาย คสช. และมารายงานตัวเพื่อขอรับบัตรใหม่ ซึ่งด้านหลังบัตรสีชมพูระบุวันหมดอายุในวันที่ 31 มีนาคม 2559
1.1.3 แรงงานที่ไม่อยู่ในกลุ่มที่จดทะเบียนฯ ได้
- แรงงานที่ถือบัตรสีชมพู ซึ่งด้านหลังบัตรระบุปีที่หมดอายุก่อน ปี 2557
- แรงงานที่จดทะเบียนในกิจการประมงทะเล และกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ ดังนี้
- กิจการประมงทะเล
- ด้านหลังบัตรสีชมพูระบุวันหมดอายุ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559
- ด้านหลังบัตรสีชมพูระบุวันหมดอายุ วันที่ 31 มกราคม 2560
- กิจการแปรรูปสัตว์น้ำ
- ด้านหลังบัตรสีชมพูระบุวันหมดอายุ 24 พฤศจิกายน 2559
- ด้านหลังบัตรสีชมพูระบุวันหมดอายุ 22 กุมภาพันธ์ 2560
1.2 แรงงานกลุ่มที่ถือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้
1.2.1 แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่ผ่านการตรวจสัญชาติ หรือพิสูจน์สัญชาติ ทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี ที่ถือเอกสาร ดังนี้
- หนังสือเดินทาง (Passport - PP)
- หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport - TP)
- เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (Travel Document - TD)
- เอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity - CI)
1.2.2 เงื่อนไขการดำเนินการ
- กรณีที่เอกสารตามข้อ 1.2.1 หมดอายุ หรือมีอายุเหลืออยู่แต่ยังไม่ได้ Visa หรือกรณีที่ Visa ยังมีอายุเหลืออยู่ หรือสิ้นอายุแล้ว รวมถึงกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการตรวจสัญชาติ หรือ พิสูจน์สัญชาติ ซึ่งครบกำหนดวาระการจ้างงาน 4 ปี หรือ 6 ปี ที่มีตราประทับ MOU (MOU เทียม) สามารถดำเนินการจดทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงานได้ ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ในกลุ่มนำเข้าตาม MOU ในครั้งแรก (MOU แท้) ไม่สามารถดำเนินการได้
- กรณีแรงงานที่บัตรสีชมพูตามข้อ 1.1.1 และ 1.1.2 สูญหาย ให้ขอคัดสำเนาแบบ ทร.38/1 จากสำนักงานทะเบียนอำเภอ หรือสำนักงานทะเบียนท้องถิ่น เป็นหลักฐานในการแสดงตน โดยให้ใช้เอกสารฉบับจริง (ห้ามใช้ฉบับที่ถ่ายเอกสาร) สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ถือเอกสาร ที่ประเทศต้นทางออกให้ ตามข้อ 1.2.1 หากมีการสูญหายไม่อนุญาตให้ใช้สำเนาเป็นหลักฐานแสดงตน เพียงอย่างเดียว แรงงานต่างด้าวต้องนำเอกสารอื่นมาแสดงประกอบด้วย เช่น ใบอนุญาตทำงานซึ่งมีชื่อถูกต้องตรงกับสำเนาเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้ดังกล่าว เป็นต้น
- แรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานกับนายจ้างรายเดิมที่มีชื่อตรงตามบัตรสีชมพู หรือนายจ้างรายใหม่ที่มีรายชื่อไม่ตรงตามบัตรสีชมพู ก็สามารถจดทะเบียน และขออนุญาตทำงานได้
- แรงงานที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่อนุญาตให้ทำงาน เว้นแต่จะเป็นงาน ตามที่กฎหมายกำหนดให้ทำได้
2. ขั้นตอนการดำเนินการ
- ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสุขภาพ
- ขั้นตอนที่ 2 ชำระค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน
- ขั้นตอนที่ 3 ขออนุญาตทำงาน ณ OSS /ได้รับใบอนุญาตทำงานทันที
2.1 ตรวจสุขภาพ
แรงงานต่างด้าวในกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผัน ให้ไปตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ ณ โรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 โดยชำระค่าตรวจสุขภาพ 500.- ประกันสุขภาพ 2 ปี 3,200.- สำหรับแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคมอยู่แล้วไม่ต้องประกันสุขภาพ ส่วนแรงงานที่ทำงานในกิจการที่ต้องเข้าระบบประกันสังคม แต่แรงงานยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ให้ประกันสุขภาพเป็นเวลา 90 วัน
สถานที่ตรวจสุขภาพ
- กรุงเทพมหานคร ตรวจสุขภาพได้ 7 แห่ง ดังนี้
- รพ.กลาง
- รพ.นพรัตน์
- รพ.เลิศสิน
- รพ.ราชวิถี
- รพ.ตากสิน
- รพ.เจริญกรุงประชารักษ์
- รพ.วชิระพยาบาล
- จังหวัดอื่น ตรวจสุขภาพ ณ โรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
2.2 ชำระค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน
2.2.1 เมื่อแรงงานต่างด้าวผ่านการตรวจสุขภาพ ไม่เป็นโรคต้องห้ามตามที่กำหนด ให้ไปชำระค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน ณ จุดบริการชำระเงิน (Counter Service) หรือสำนักงานจัดหางาน จังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1 – 10 อัตราค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน 2 ปี 1,800 บาท ค่ายื่นคำขออนุญาตทำงาน 100 บาท รวม 1,900 บาท โดยแรงงานต้องถือใบรับรองแพทย์ฉบับจริงไปแสดงพร้อมกับบัตรสีชมพู หรือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้ (PP/TP/TD/CI)
กรณีไม่ได้ถือเอกสารฉบับจริง หรือเอกสารสูญหาย ให้แรงงานต่างด้าว ติดต่อขอชำระเงินค่าธรรมเนียมที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1 - 10 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานยืนยันสถานะของแรงงานต่างด้าวก่อนเก็บเงินค่าธรรมเนียม
ทั้งนี้ ให้แจ้งนายจ้าง/แรงงานต่างด้าว ตรวจสอบสถานะของตนให้ถูกต้อง ว่าอยู่ในกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันหรือไม่ หากชำระเงินแล้วไม่สามารถจัดทำทะเบียนประวัติ และขออนุญาตทำงานได้ นายจ้างต้องรับผิดชอบ และอาจไม่มีการคืนเงิน
2.2.2 สถานที่ชำระค่าธรรมเนียม
- จุดบริการชำระเงิน (Counter Service)
- แรงงานชำระเงินค่ายื่นคำขออนุญาตทำงาน 100 บาทค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน 2 ปี 1,800 บาท ค่าบริการ 10 บาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน รวม 1,910 บาท กรณีที่นายจ้างมีแรงงานจำนวนมากให้ติดต่อจุดบริการชำระเงิน (Counter Service) ล่วงหน้า
- แรงงานต่างด้าวจะได้รับ
- สลิปใบเสร็จรับเงิน และใบนัด
- SMS ส่งข้อความยืนยันการชำระเงินถึงโทรศัพท์ของแรงงาน ต่างด้าวตามที่กดหมายเลขยืนยัน หรือหมายเลขโทรศัพท์ของนายจ้าง
- สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1 – 10
- แรงงานชำระเงินค่ายื่นคำขออนุญาตทำงาน 100 บาท ค่าธรรมเนียมการอนุญาตทำงาน 2 ปี 1,800 บาท รวม 1,900 บาท ไม่เสียค่าบริการใดๆ กรณีที่นายจ้าง มีแรงงานจำนวนมากให้ติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1 – 10 ล่วงหน้า
- แรงงานต่างด้าวจะได้รับ
2.3 เอกสารประกอบการขออนุญาตทำงาน
แบบคำขออนุญาตทำงาน (ตท.8) พร้อมเอกสารประกอบคำขอ ดังนี้
- ใบรับรองแพทย์ ฉบับจริง
- เอกสารนายจ้าง เช่น สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน/สำเนาทะเบียนบ้าน หรือสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียน แล้วแต่กรณี
- สัญญาจ้างงาน
- หนังสือรับรองการจ้าง
- ทะเบียนบ้าน/หนังสือรับรอง/หลักฐานอื่นๆ ที่ระบุสถานที่ทำงาน
- แผนที่สถานที่ทำงาน
- รูปถ่าย 3 X 4 ซม. จำนวน 2 รูป
- สลิปของจุดบริการชำระเงิน (Counter Service) หรือใบเสร็จรับเงินของสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1 – 10
กรณียื่นคำขออนุญาตทำงาน ตท.8 มากกว่า 1 คน ให้จัดเตรียมเอกสารประกอบคำขอในส่วนของนายจ้างจำนวน 1 ชุด ต่อการยื่น 1 ครั้ง และให้จัดทำสัญญาจ้างงานซึ่งทำขึ้นระหว่างนายจ้างกับแรงงานต่างด้าว 1 คนต่อ 1 ฉบับ สำหรับหนังสือรับรองการจ้างให้จัดทำเพียง 1 ฉบับ (เช่นเดียวกับเอกสารประกอบคำขอ ตท.8 ในส่วนของนายจ้าง) และให้ทำบัญชีรายชื่อแนบ โดยระบุไว้ท้ายหนังสือรับรองการจ้างว่า “รับรองการจ้างตามรายชื่อที่ปรากฏในเอกสารแนบ"
2.4 นายจ้างนำแรงงานต่างด้าว หรือแรงงานต่างด้าว นำเอกสาร หลักฐานที่เตรียมไว้ยื่นกับเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service)
ซึ่งจะได้รับใบอนุญาตทำงานในวันที่ยื่นเอกสาร โดยเตรียมเงินเพื่อมาชำระค่าบัตรสีชมพู และค่าทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) จำนวน 80 บาท
2.5 การเปลี่ยนนายจ้าง/ท้องที่/สถานที่ทำงาน
2.5.1 เปลี่ยนนายจ้าง
- ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนนายจ้าง แรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนฯ และได้รับอนุญาตทำงานในช่วงเวลาของการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 ณ ศูนย์บริการ จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนนายจ้าง
- อนุญาตให้เปลี่ยนนายจ้าง เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการจดทะเบียนภายใต้เงื่อนไข ดังนี้
- นายจ้างเลิกจ้างแรงงานต่างด้าว
- นายจ้างเลิกกิจการ/หรือเลิกการทำงานในส่วนที่ต้องใช้แรงงาน
- นายจ้างกระทำทารุณกรรม
- นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง/ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
- ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และเมื่อได้รับอนุญาตให้แรงงานเปลี่ยนนายจ้างแล้ว ให้ประสานสำนักงานทะเบียนอำเภอ หรือสำนักงานทะเบียนท้องถิ่น เพื่อเปลี่ยนบัตรสีชมพู และใบอนุญาตทำงาน (ด้านหลังบัตรสีชมพู) ต่อไป
2.5.2 การดำเนินการเปลี่ยนนายจ้าง
- แรงงานต่างด้าว หรือผู้ที่ประสงค์จะจ้างแรงงานดังกล่าวต้องนำหลักฐาน การเลิกจ้าง เลิกกิจการ หรือร้องทุกข์ดำเนินคดีกับนายจ้างรายเดิม ตามข้อ 2.5.1 (2) มาแสดง
- ขอความร่วมมือให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดำเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนายจ้างรายเดิมที่กระทำทารุณกรรม ไม่จ่ายค่าจ้าง/ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตามกฎหมายที่บัญญัติขั้นสูงสุด และไม่อนุญาตให้จ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา 2 ปี
- แรงงานต่างด้าวที่หนีนายจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควร เพื่อไปทำงาน กับนายจ้างรายใหม่จะไม่อนุญาตให้ทำงานเป็นเวลา 2 ปี ต้องเดินทางกลับประเทศ และหากประสงค์จะกลับ เข้ามาทำงานในประเทศไทยอีก ให้กลับเข้าทำงานภายใต้ MOU
- นายจ้างที่จ้างแรงงานผิดกฎหมาย ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายที่บัญญัติไว้สูงสุด