เหมือนจะขาลง แต่ตัวเลขยังคงพุ่งไม่หยุด! และแน่นอนว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบในหลายอุตสาหกรรม หลายธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องหยุดกิจการ รวมถึงยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระทบต่อตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง ทุกองค์กรต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้อยู่ตลอดเวลา โดยข้อมูลจากจ๊อบไทย (JobThai) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มหางานและสมัครงานออนไลน์ ระบุว่า ภาพรวมของผู้ใช้บริการหางานและสมัครงานในปี 2564 มีการใช้งานมากกว่า 18.5 ล้านคน เติบโตขึ้น 12.38% มีการสมัครงาน 17,161,667 ครั้ง ด้านผลสำรวจรูปแบบการทำงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังพบว่าคนทำงานส่วนใหญ่กว่า 56.65% ไม่ได้ทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮม ส่วนคนทำงานที่ได้ทำงานแบบดังกล่าวกว่า 70.95% ให้ความคิดเห็นว่าการทำงานแบบนี้ทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
นอกจากนี้
องค์กรต่างๆ บอกว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19
สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของการสมัครงานที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน คือ
ได้รับใบสมัครที่มาจากนักศึกษาจบใหม่หรือผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์การทำงานเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น
ได้รับใบสมัครงานที่คุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการ
และได้รับใบสมัครงานที่มาจากผู้สมัครที่ทำการย้ายสายงานตามลำดับ
รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้องค์กรมีการยกเลิกสวัสดิการต่างๆ
โดยมีการยกเลิกสวัสดิการเหล่านี้มากที่สุด ได้แก่
1.กิจกรรมสันทนาการ เช่น
งานกีฬาสี งานเลี้ยงสังสรรค์ปีใหม่ ท่องเที่ยวประจำปี
2.จัดคอร์สอบรมและพัฒนาความรู้ภายในองค์กร
3.โบนัส
4.ตรวจสุขภาพประจำปี และ
5.เงินรางวัลประจำปี รางวัลพนักงานดีเด่น
ส่วนปัญหาที่ HR
มักจะพบมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่
1.ผู้สมัครงานไม่มาสัมภาษณ์งานโดยไม่แจ้งให้ทราบ 72.92%
2.ผู้สมัครงานเรียกเงินเดือนสูงกว่าคุณสมบัติที่ตัวเองมี 42.11%
3.ทักษะของผู้สมัครงานไม่ตรงหรือมีไม่มากเท่าที่ระบุไว้ในประกาศงาน 39.39%
4.ผู้สมัครงานที่ผ่านการคัดเลือกแต่ไม่มาเริ่มงานตามกำหนด 33.11% และ
5.ผู้สมัครงานไม่ศึกษาข้อมูลองค์กร 30.05%
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ HR ให้ความสำคัญในการพิจารณาใบสมัครงานมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่
1.ทักษะของผู้สมัครที่ตรงกับตำแหน่งงาน
2.คุณสมบัติของผู้สมัครที่ตรงกับประกาศรับสมัครงาน
3.ประสบการณ์เดิมจากที่ทำงานเก่า
4.ทักษะอื่นๆ ที่ส่งเสริมกับตำแหน่งงาน
และ
5.ความถูกผิดของการสะกดต่างๆ ในใบสมัครงาน และสิ่งที่ HR
ให้ความสำคัญในการพิจารณาใบสมัครงานน้อยที่สุด 5 อันดับ ได้แก่
1.ศาสนาของผู้สมัคร
2.เพศของผู้สมัคร
3.ตัวตนในโลกออนไลน์
4.สถาบันที่จบการศึกษา และ
5.ความสวยงามของ Resume
โดยยังมีทักษะที่
HR มองหานอกจากทักษะเฉพาะทาง 5 อันดับ ได้แก่
1.ทักษะการรับมือกับปัญหา
สามารถปรับตัวเพื่อฟื้นฟูตัวเองเมื่อเจอกับปัญหาหรือความล้มเหลว
2.ทักษะการคิดวิเคราะห์
3.ทักษะการคิดเชิงเหตุผลและตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน
4.ทักษะในการรับมือและจัดการกับความเครียด เมื่อเจอกับปัญหา
หรือความเปลี่ยนแปลง และ
5.ทักษะในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ด้วยตนเอง
สำหรับรูปแบบการทำงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19
พบว่า
1.คนทำงานไม่ได้ทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮมเลยกว่า 56.65%
2.ทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮมสลับกับการเข้าทำงานที่บริษัท 32.84%
3.ทำงานที่บ้านเป็นส่วนมาก 9.21%
4.ทำงานแบบที่บ้านอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนการระบาด 1.30%
คนที่ทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮมยังให้ความคิดเห็นทั้งข้อดีและข้อเสียเกี่ยวกับการทำงานในรูปแบบนี้ว่า ทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน, หลีกเลี่ยงการเมืองในองค์กรได้, มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น, สุขภาพจิตดีขึ้น, สุขภาพกายดีขึ้น ในการทำงานต่อจากนี้คนที่ได้ทำงานที่บ้านก็คาดหวังที่จะได้ทำงานแบบไฮบริด หรือการทำงานที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน เพราะสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ สำหรับรูปแบบของการทำงานในอนาคตเป็นสิ่งที่องค์กรควรพิจารณาปรับนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของคนทำงาน เพื่อดึงดูดคนเก่งและรักษาพนักงานให้ทำงานด้วยเช่นเดียวกัน.