กระทรวงแรงงานเร่งนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าว ตามมติ ครม. 28 ก.ย. 2564 ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 15 มี.ค. 2565
วันที่ 11 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 เห็นชอบผ่อนปรนให้แรงงานผิดกฎหมาย 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา และลาว) ทำเอกสารให้ถูกต้อง เพื่อจะได้เป็นแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย และเพื่อสนับสนุนการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสถานที่ก่อสร้างสถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน ช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน – 30 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หลังกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน (กกจ.) ตรวจสอบพบว่า มีนายจ้างยังไม่มาดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน จำนวน 19,489 ราย ครม.จึงมีมติเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ให้นายจ้างสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มีนาคม 2565
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หากยังไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มีนาคม 2565 จะส่งผลให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้ และกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย
โดยนายจ้างหรือสถานประกอบการ ต้องชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานฉบับละ 1,350 บาท ไม่เกินวันที่ 15 มีนาคม 2565 ณ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด อันเป็นที่ตั้งของสถานที่ทำงานของคนต่างด้าว
“การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวคำนึงถึงการรักษากำลังแรงงาน ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญของนายจ้าง สถานประกอบการ และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูประเทศ ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขับเคลื่อนได้ต่อไป
ทั้งในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย เป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน เน้นย้ำมาโดยตลอด
ซึ่งผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอฝากถึงนายจ้างให้ดำเนินการตามขั้นตอนภายในระยะเวลาที่กำหนด เห็นความสำคัญของการจ้างแรงงานถูกกฎหมาย คนต่างด้าวได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ การคุ้มครองตามสิทธิที่พึงได้รับ”
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบายถึงมติ ครม. วันที่ 28 กันยายน 2564 ว่า เป็นการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ โดยให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสถานที่ก่อสร้างสถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน ช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน – 30 พฤศจิกายน 2564 เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้างและคนต่างด้าว
ขั้นตอนการดำเนินเอกสารมีดังนี้
1. หากพบคนต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจะจัดทำประวัติ และให้นายจ้างมายื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวภายใน 7 วัน (ตอนนี้สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการแล้ว)
2. ชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 15 มีนาคม 2565
3. ดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์ข้อมูลบุคคล ตรวจสุขภาพ 6 โรค ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565
4. ขอรับตรวจลงตราหรือประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565
“จากการลงพื้นที่ตรวจสอบช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน – 30 พฤศจิกายน 2564 พบคนต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานได้จัดทำประวัติ และบันทึกข้อมูลคนต่างด้าว จำนวนทั้งสิ้น 353,776 คน มีนายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานแล้ว จำนวน 334,287 ราย
ยังคงเหลือนายจ้างที่ไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมค่ายื่นคำขอ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด จำนวน 19,489 ราย ซึ่งเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนด หากนายจ้างหรือสถานประกอบการ ยังไม่ดำเนินการตามขั้นตอนให้แล้วเสร็จ กรมการจัดหางานจำเป็นต้องตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมาย”