เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เป็นประธานการประชุมรับฟังการนำเสนอระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการจ้างงานและการออกวีซ่าของประเทศซาอุดีอาระเบีย และประชุมหารือระหว่างสำนักงาน/บริษัทจัดหางานไทยและซาอุฯ โดยมี นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม
นายไพโรจน์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เป็นประธานการประชุมรับฟังการนำเสนอระบบอิเล็กทรอนิกส์ของซาอุฯ และประชุมหารือระหว่างสำนักงาน/บริษัทจัดหางานไทยและซาอุฯ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และร่วมหารือเกี่ยวกับกระบวนการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในชาอุฯ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน (กกจ.) ตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันให้แรงงานไทยไปทำงานยังต่างประเทศอย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับการคุ้มครองตามหลักสากลและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมคนหางานก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยการให้ความรู้ การประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการพัฒนาทักษะฝีมือให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายให้คนงานไทยที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศได้ยกระดับเป็นสมาร์ท เลเบอร์ (Smart Labour) ตลอดจนส่งเสริมให้คนงานได้รับการคุ้มครองการทำงานระหว่างที่ทำงานในต่างประเทศตามหลักสากลได้รับค่าตอบแทนในการทำงานที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อให้มีรายได้กลับเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพนายไพโรจน์ กล่าวว่า
แรงงานไทยเป็นที่ต้องการของนายจ้างเนื่องจากเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือ
มีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะไปทำงานไปทำงานต่างประเทศในสาขาอาชีพต่างๆ
ได้แก่ สาขาช่างฝีมือในภาคก่อสร้างขนาดใหญ่ งานช่าง งานบริการ
และการท่องเที่ยว เพื่อรองรับการขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศ
ซึ่งถือเป็นโอกาสของแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานซาอุฯ ทั้งนี้
ข้อมูลจากกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ (ณ วันที่ 11 มีนาคม 2565) พบว่า
ขณะนี้มีคนหางานแจ้งความประสงค์ไปทำงานซาอุฯ ที่ลงทะเบียนผ่านระบบ
E–service เว็บไซต์ https://toea.doe.go.th แล้วจำนวน 1,011 คน แยกเป็น ชาย
670 คน หญิง 341 คน
“โดยคนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศต้องลงทะเบียนกับศูนย์ทะเบียนคนหางาน
ไปทำงานต่างประเทศ
ซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลคนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ
โดยคนหางานต้องแจ้งข้อมูลที่สำคัญ เช่น ประเทศที่ต้องการจะเดินทางไปทำงาน
ตำแหน่งงานที่ต้องการทำ ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์การทำงาน
และความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ เป็นต้น
โดยสามารถลงทะเบียนได้ที่ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center)
กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 –
10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด
หรือลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
(e-Service) ทางเว็บไซต์ http://toea.doe.go.th” นายไพโรจน์ กล่าวและว่า
ความสำเร็จในการประชุมหารือร่วมกันระหว่างภาคเอกชนทั้ง 2 ฝ่าย ในวันนี้
จะนำไปสู่ความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างกันได้เป็นอย่างดี
โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานในการเคารพและยึดมั่นในพันธกรณีต่างๆ
ในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ
และความร่วมมือทวิภาคีด้านการจ้างแรงงานที่มีอยู่
เพื่อประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านแรงงานที่เป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย
เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายร่วมกันต่อไป