ด้วยพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๑ ได้ปรับปรุงมาตรการของรัฐในการควบคุมและกำกับการทำงานของคนต่างด้าว โดยให้มีการใช้ระบบอนุญาตเพียงเท่าที่จำเป็น และกำหนดกระบวนการในการควบคุมและตรวจสอบการทำงานให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวในภารกิจการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) มีความเข้าใจและปฏิบัติตามพระราชกำหนดได้กล่าวได้อย่างถูกต้อง กรมการจัดหางานจึงขอชี้แจงรายละเอียด ดังต่อไปนี้
๑. พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้ปรับปรุงมาตรการในการควบคุมการทำงานของคนต่างด้าว โดยได้กำหนดหลักการให้คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานมีสิทธิทำงานได้ทุกชนิดตามสิทธิที่ตนได้รับอนุญาต รวมถึงการเปลี่ยนนายจ้างสามารถทำได้โดยการแจ้งให้นายทะเบียนทราบ
๒. การที่มาตรา ๘ ได้กำหนดห้ามคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชกำหนดนี้ ซึ่งสิทธิที่คนต่างด้าวจะทำได้นั้น หมายความว่า สิทธิในการทำงานได้ทุกชนิดตามประเภทงานที่กฎหมายกำหนดให้คนต่างด้าวในแต่ละกลุ่มสามารถทำงานได้เท่านั้น เช่น
(๑) กลุ่มคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งชาติอื่น (MOU) เพื่อทำงานในกิจการประมงทะเลและกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา ๕๙ สามารถทำงานได้ทุกงานที่ไม่ใช่งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามที่กำหนดในมาตรา ๗
ทั้งนี้ ปัจจุบันเมื่อยังมิได้มีประกาศที่ออกตามมาตรา ๗ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้กำหนดบทเฉพาะกาลให้พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. ๒๕๒๒ และแก้ไขเพิ่มเติม ยังคงใช้บังคับต่อไปได้ตามมาตรา ๑๓๔ และมาตรา ๑๔๕
ดังนั้น คนต่างด้าวในกลุ่มนี้มีสิทธิทำงานได้ทุกประเภทงานไม่ใช่งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ๓๙ งาน ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โดยไม่ต้องมาขอเพิ่มหรือเปลี่ยนประเภทงานจากนายทะเบียนแต่อย่างใด
(๒) กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการผ่อนผันให้ทำงานในกิจการประมงทะเลและกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ โดยกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา ๖๓/๒ สามารถทำงานได้ทุกประเภทงานตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้คนต่างด้าวตามมาตรา ๖๓/๒ ทำได้
ปัจจุบันแม้ว่าคณะรัฐมนตรียังมิได้มีประกาศกำหนดตามมาตรา ๖๓/๒ แต่โดยผลของบทเฉพาะกาลตามมาตรา ๑๔๕ แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ จึงทำให้คนต่างด้าวในกลุ่มนี้มีสิทธิทำงานได้ทุกชนิดตามประเภทงานที่กำหนดในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เร่องกำหนดประเภทงานให้คนต่างด้าวตามมาตรา ๑๓(๒) แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๕๑ ทำได้ ลงวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดประเภทงานให้คนต่างด้าวตามมาตรา ๑๓(๒) แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๕๑ ทำได้ (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดประเภทงานให้คนต่างด้าวตามมาตรา ๑๓ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๕๑ ทำได้ (ฉบับที่ ๓) ลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ (อันได้แก่ งานกรรมกร งานรับใช้ในบ้าน งานช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเล และงานผู้ประสานงานด้านภาษากัมพูชา ลาว หรือเมียนมา) โดยไม่ต้องมาขอเพิ่มหรือเปลี่ยนประเภทงานจากนายทะเบียนแต่อย่างใด
๓. เนื่องจากใบอนุญาตทำงานที่อยู่ในความครอบครองของคนต่างด้าวในปัจจุบัน เป็นไปตามประกาศกรมการจัดหางาน เรื่อง กำหนดแบบใบอนุญาตทำงาน ลงวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ และประกาศกรมการจัดหางาน เรื่อง กำหนดแบบใบอนุญาตทำงาน (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งออกตามความในพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ และมีผลบังคับใช้ก่อนวันใช้บังคับพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ ดังนั้น หากตรวจสอบแล้วปรากฎว่าคนต่างด้าวทำงานตรงตามประเภทงานที่ตนมีสิทธิทำได้ตามที่ได้กล่าวข้างต้น แม้ว่าจะไม่ตรงกับประเภทงานตามทีกำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงาน ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา ๘ แห่งพระราชกำหนดการบริการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑
๔. ในทำนองเดียวกัน สำหรับกรณีตามมาตรา ๙ ได้กำหนดห้ามนายจ้างซึ่งรับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชกำหนดนี้ ซึ่งสิทธิที่คนต่างด้าวจะทำได้นั้น หมายความว่า สิทธิในการทำงานได้ทุกชนิดตามประเภทงานที่กฎหมายกำหนดให้คนต่างด้าวในแต่ละกลุ่มสามารถทำงานได้เท่านั้น ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
๕. อย่างไรก็ตาม การที่มาตรา ๗๑ แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้กำหนดบทเฉพาะกาลผ่อนผันระยะเวลาการใช้บังคับบทกำหนดโทษ โดยมิให้นำมาตรา ๑๐๑ (โทษคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ตามมาตรา ๘) มาตรา ๑๐๒ (โทษนายจ้างที่รับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ตามมาตรา ๙) และมาตรา ๑๑๙ (โทษคนต่างด้าวผู้ใดทำงานโดยไม่แจ้งการทำงานอันจำเป็นหรือเร่งด่วนหรืองานเฉพาะกิจให้นายทะเบียนทราบตามมาตรา ๖๑) มาใช้บังคับ จนกว่าจะถึงวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ นั้น มีผลให้การกระทำความผิดดังกล่าวที่กระทำลงในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษตามกฎหมาย จึงไม่เป็นความผิดอาญาที่ผู้กระทำผิดจะต้องรับโทษตามมาตรา ๒ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ส่วนการกระทำความผิดอันมีโทษตามมาตรา ๑๐๑ มาตรา ๑๐๒ และมาตรา ๑๑๙ ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๑ อันเป็นความผิดพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปโดยพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ และแม้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ จะยังกำหนดให้เป็นความผิด แต่ไม่มีโทษ จึงต้องถือว่าบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง กำหนดให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไปตามมาตรา ๒ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ที่มา : กองนิติการ กรมการจัดหางาน ที่ รง ๐๓๐๓/ว ๕๓๘๐๗
สำนักงานจัดหางนจังหวัดสมุทรสงคราม
186 หมู่ที่ 3 ถนนเอกชัย ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม 75000 กลุ่มงานส่งเสริมการมีงานทำ ติดต่อ 0 3471 4342-3 ต่อ 106 งานควบคุมการทำงานของคนต่างด้าว ติดต่อ 0 3471 4342-3 ต่อ 103,105 ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ติดต่อ 0 3471 4342-3 ต่อ 102
สอบถามข้อมูล
skm@doe.go.th
0 3471 4342-3,0 3471 8376,0 3471 4342-3 ต่,0 3471 8376