๑. กรณีการขออนุญาตทำงานครั้งแรกเมื่อนายทะเบียนอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานแล้ว ให้ดำเนินการดังนี้
(๑) นายจ้างแจ้งการจ้างคนต่างด้าวเข้ามาทำงานต่อนายทะเบียน (มาตรา ๑๓)
(๒) คนต่างด้าวแจ้งการเข้าทำงานกับนายจ้าง (มาตรา ๖๔/๒)
๒. กรณีคนต่างด้าวเปลี่ยนหรือเพิ่มนายจ้าง ให้ดำเนินการดังนี้
(๑) ให้คนต่างด้าวแจ้งการเข้าทำงานกับนายจ้างรายใหม่หรือแจ้งเข้าทำงานกับนายจ้างที่เพิ่มเติมเข้ามาต่อนายทะเบียน (มาตรา ๖๔/๒)
(๒) ให้นายจ้างรายใหม่หรือนายจ้างที่เพิ่มเติมเข้ามาแจ้งการจ้างคนต่างด้าวเข้าทำงานต่อนายทะเบียน (มาตรา ๑๓)
(๓) ให้นายจ้างรายเดิมแจ้งคนต่างด้าวออกจากงานต่อนายทะเบียน (มาตรา ๑๓)
(๔) ให้เจ้าหน้าที่ที่รับแจ้งตาม (๑)-(๓) ออกใบรับแจ้งให้แก่คนต่างด้าวหรือนายจ้างไว้แล้วแต่กรณี และไม่สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากคนต่างด้าวหรือนายจ้างได้
๓. ในกรณีเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ ให้เจ้าหน้าที่พิจารณาตามเงื่อนไขเดิม (นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือนายจ้างเสียชีวิต นายจ้างล้มละลาย นายจ้างกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกายลูกน้อง นายจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างหรือกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างทำงานในสภาพการทำงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย) ที่ใช้ในการพิจารณาให้เปลี่ยนนายจ้างได้ และหากปรากฎว่าเหตุที่คนต่างด้าวออกจากงานเพื่อเปลี่ยนนายจ้างไม่เข้าเงื่อนไขที่จะสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ถ้าคนต่างด้าวหรือนายจ้างรายใหม่ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับนายจ้างรายเดิมให้สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ ซึ่งต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ออกจากนายจ้างรายเดิม
ถ้าเหตุที่คนต่างด้าวออกจากงานไม่เป็นไปตามเงื่อนไขหรือนายจ้างไม่ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างรายเดิมหรือพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่คนต่างด้าวออกจากงานจากนายจ้างรายเดิม แต่ไม่มีนายจ้างรายใหม่จ้างคนต่างด้าวนั้นเข้าทำงานให้นายทะเบียนเพิกถอนใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวดังกล่าว และให้ผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานหรือนายจ้างส่งคนต่างด้าวกลับประเทศต้นทาง (มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๖ มาตรา ๕๐ มาตรา ๕๑ มาตรา ๕๒ และมาตรา ๕๓)
๔. ในกรณีที่คนต่างด้าวมีความประสงค์จะเปลี่ยนหรือเพิ่มท้องที่ทำงาน และเป็นการทำงานกับนายจ้างรายเดิมคนต่างด้าวไม่ต้องแจ้งหรือขออนุญาตจากนายทะเบียน ทั้งนี้ ยังต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
๕. ในกรณีที่คนต่างด้าวประสงค์จะเปลี่ยนหรือเพิ่มประเภทงาน และเป็นการทำงานกับนายจ้างรายเดิม ถ้าคนต่างด้าวได้ทำงานตามประเภทที่ตนเองมีสิทธิทำได้ตามพระราชกำหนดฯ สามารถทำงานได้ทุกประเภทตามสิทธินั้น โดยไม่ต้องแจ้งหรือขออนุญาตจากนายทะเบียน เช่น
(๑) คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (รวมทั้งคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตาม MOU) มีสิทธิทำงานได้ทุกชนิด ยกเว้นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (๓๙ อาชีพ)
(๒) คนต่างด้าวที่เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแต่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับมีสิทธิทำงานได้ ๔ ประเภท คือ งานกรรมกร งานรับใช้ในบ้าน งานช่างเครื่องยนต์ในเรือประมง และงานผู้ประสานงานด้านภาษากัมพูชา ลาว หรือเมียนมา (งานผู้ประสานฯ ยังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดประเภทงานให้คนต่างด้าวตามมาตรา ๑๓(๒) แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ ทำได้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๙)
๖. ในการแจ้งและการรับแจ้งให้ใช้แบบที่กำหนดไปจนกว่ากรมการจัดหางานจะได้ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแจ้งการทำงานตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๖๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
สำหรับกรณีนายจ้างจะมีความผิดตามมาตรา ๙ ประกอบ ๑๐๒ แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือไม่ นั้น ต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า
(๑)รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานกับตน หรือ
(๒)ให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนอจากที่มีสิทธิจะทำได้ตามพระราชกำหนดฯ ซึ่งหมายความว่า กรณีคนต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงานอยู่แล้ว คนต่างด้าวนั้นจะมีสิทธิทำงานประเภทงานตามกลุ่มที่ตนได้รับอนุญาตซึ่งได้ยกตัวอย่างไว้ในข้อ ๕ แต่ปรากฎว่านายจ้างได้ให้คนต่างด้าวไปทำงานนอกเหนือจากประเภทงานที่คนต่างด้าวนั้นมีสิทธิทำได้ เช่น ให้คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองไปทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หรือให้คนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ (กลุ่มบัตรสีชมพู) ไปทำงานอย่างอื่นนอกจากงานกรรมกร งานรับใช้ในบ้าน งานช่างเครื่องยนต์ในเรือประมง และงานผู้ประสานงานด้านภาษากัมพูชา ลาว หรือเมียนมา เป็นต้น
ที่มา : กองนิติการ กรมการจัดหางาน รง ๐๓๐๓/ว ๕๔๘๘๒ ลว ๙ เมษายน ๒๕๖๑
สำนักงานจัดหางนจังหวัดสมุทรสงคราม
186 หมู่ที่ 3 ถนนเอกชัย ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม 75000 กลุ่มงานส่งเสริมการมีงานทำ ติดต่อ 0 3471 4342-3 ต่อ 106 งานควบคุมการทำงานของคนต่างด้าว ติดต่อ 0 3471 4342-3 ต่อ 103,105 ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ติดต่อ 0 3471 4342-3 ต่อ 102
สอบถามข้อมูล
skm@doe.go.th
0 3471 4342-3,0 3471 8376,0 3471 4342-3 ต่,0 3471 8376