ภารกิจของหน่วยงาน

ภารกิจของหน่วยงาน


บริการแนะแนว

การให้บริการแนะแนวและบริการปรึกษาทางอาชีพเป็นการบริการให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักและเข้าใจตนเอง รู้จักโลกอาชีพ รู้ข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน รู้เส้นทางการศึกษา เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปเป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อ/เลือกประกอบอาชีพให้ตรงกับความรู้ ความสามารถ ความสนใจและความถนัดของตนเอง และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

บริการทดสอบความพร้อมทางอาชีพ

เป็นการทดสอบสำหรับวัดบุคลิกภาพ ความสนใจ ความถนัด ความมั่นใจและวัดทักษะภาษาอังกฤษ เพื่อนำผลที่ได้มาใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อหรือเลือกประกอบอาชีพให้เหมาะสมกับตนเอง โดยมีแบบทดสอบดังนี้

  1. แบบวัดบุคลิกภาพเพื่อการศึกษาต่อและการเลือกอาชีพ
  2. แบบทดสอบความพร้อมทางอาชีพ
  3. แบบทดสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ

การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพและมาตรฐานอุตสาหกรรม

1. การจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม (ประเทศไทย) ปี 2552 (Thailand Standard Industrial Classification : TSIC 2009)

กรมการจัดหางานได้ดำเนินการจัดโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยการจัดแบ่งหมวดหมู่ และการกำหนดรหัสอุตสาหกรรมตาม (ISIC : Rev.4) ขององค์การสหประชาชาติ และการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมของอาเซียน (ACIC) เพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การจัดหางาน การแนะแนวอาชีพ การจัดเก็บสถิติอุตสาหกรรมและสถิติเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น รวมทั้งสามารถเปรียบเทียบข้อมูลนานาประเทศ

2. การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย) ปี 2544 (Thailand Standard Industrial Classification of Occupations : TSCO 2001)

กรมการจัดหางานได้ดำเนินการจัดทำโครงสร้างนิยามอาชีพตามการจัดประเภทมาตรฐานอาชีพสากล (ISCO : 1988) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การจัดหางาน การแนะแนวอาชีพ การวางแผนกำลังคน การศึกษา การสำรวจภาวการณ์มีงานทำ เป็นต้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงการจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย) เพื่อจัดทำขึ้นใหม่

ศูนย์ข้อมูลอาชีพ

เป็นแหล่งสารสนเทศข้อมูลต่างๆ ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ได้ค้นคว้าข้อมูลทางอาชีพต่างๆ ทั้งข้อมูลอาชีพในระบบ/อาชีพอิสระ ข่าวสารตลาดแรงงาน ข้อมูลการศึกษา แหล่งฝึกอบรม และเงินทุน โดยเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ส่งเสริมการประกอบอาชีพ

ให้บริการแนะนำการประกอบอาชีพอิสระ จัดสาธิตและฝึกปฏิบัติอาชีพอิสระ ประสานงานแหล่งฝึกอาชีพ แนะนำแหล่งเงินทุน เผยแพร่ข้อมูลอาชีพ รวมทั้งให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการ การทำบัญชีขั้นต้น การตลาด การคิดต้นทุนการผลิต และการคำนวณกำไรขาดทุน เป็นต้น

ส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน

สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน มีการบริหารจัดการที่มีความเข้มแข็งเพื่อประโยชน์ในการรับงานไปทำที่บ้านอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการเพิ่มทักษะอาชีพหรือศักยภาพในการบริหารจัดการการรับงานไปทำที่บ้านตลอดจนสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนเพื่อรับงานไปทำที่บ้าน

การจดทะเบียนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านเป็นการเสริมสร้างให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านมีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพและศักยภาพในการรับงาน เพื่อสร้างความมั่นคงในการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต นอกจากนี้ภาครัฐสามารถส่งเสริมและพัฒนาความรู้ ทักษะอาชีพให้กับผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รวดเร็วขึ้น